ถึงแม้ “ถั่ว” จะมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย แต่หากกินไม่ถูกวิธี ก็อาจทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เพราะถั่วนั้น เป็นอาหารที่ค่อนข้างย่อยยากและทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารได้ จึงขอแนะนำวิธีการกินถั่วอย่างถูกวิธี ดีต่อร่างกาย ดังนี้

      1. สำหรับผู้ที่เพิ่งหัดกินถั่วใหม่ๆ หรือปกติไม่ได้กินถั่วเป็นประจำนั้น ให้เริ่มกินแต่น้อยๆ เช่น สัปดาห์ละ 2 ครั้ง จากนั้น จึงค่อยเพิ่มความถี่ให้มากขึ้น เพื่อให้ระบบย่อยอาหารของร่างกายปรับตัว

      2. แช่เมล็ดถั่วในน้าเปล่า เป็นเวลา 12-24 ชั่วโมง ก่อนนำไปปรุงอาหาร จะช่วยให้แป้งบางส่วนที่ย่อยยากนั้นสามารถย่อยได้มากขึ้น

      3. เลือกชนิดของถั่วที่จะนำมากิน ทั้งนี้ถั่วแต่ละชนิดนั้นทำให้เกิดแก๊สไม่เท่ากัน เช่น ถั่วขาวและถั่วเหลืองจะมีแก๊สมาก ส่วนถั่วดำ ถั่วแดงและถั่วเขียวจะมีแก๊สน้อยกว่า นอกจากนี้ “ถั่วเมล็ดแห้ง” ก็จะทำให้เกิดแก๊สในท้องมากกว่าถั่วสำเร็จรูปที่บรรจุกระป๋อง

      4. เวลากินถั่วควรเคี้ยวให้ละเอียดมากที่สุด เพราะเอนไซม์ในน้ำลายนั้นจะทำหน้าที่ช่วยย่อยแป้งได้ดี

      5. เนื่องจากในถั่วมีสารประเภทกรดไฟติก หรือไฟเทต ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมแร่ธาตุบางชนิด เช่น เหล็ก สังกะสี และแคลเซียม ดังนั้น จึงควรกินถั่วที่ปรุงสุกแล้ว ถั่วที่ผ่านการงอก หรือกระบวนการหมักมาแล้ว เพื่อลดปริมาณสารไฟเทต

      6. ปริมาณที่แนะนำในการกินถั่วคือ ครึ่งถ้วย หรือ 64 กรัม และใน 1 สัปดาห์ควรกินให้ได้ 3-4 ครั้ง/สัปดาห์

      7. การเลือกซื้อถั่ว ให้เลือกถั่วที่ผลิตใหม่ๆ เมล็ดสมบูรณ์ ไม่ลีบ ไม่ฝ่อ หรือการกัดแทะของแมลง โดยเฉพาะถั่วลิสงจะมีเชื้อรา “อะฟลาท็อกซิน” จะขึ้นได้ง่าย หากเมล็ดของถั่วมีการแตกหัก หรือมีความชื้นสูง ดังนนั้ จึงไม่ควรซื้อถั่วเก็บไว้เป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้เกิดเชื้อราหรือสร้างสารพิษอะฟลาท็อกซินได้

      8. สำหรับผู้ที่มีปัญหาท้องอืด อาหารไม่ย่อยหรือ อาการไม่พึ่งประสงค์หลังกินถั่วเมล็ดแห้ง ถ้าปฏิบัติตามข้อ 1 2 และ 3 แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น อาจเลือกกินถั่วในรูปแบบที่ผ่านกระบวนการงอก หรือถั่วที่ผ่านกระบวนการหมักมาแล้ว จะทำให้อาการดีขึ้น

      ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน

               http://www.thaihealth.or.th/